วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)

วิสัยทัศน์ หมายถึง จุดมุ่งหวัง ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น หรือสิ่งที่คิดว่าควรจะเป็นในอนาคตโดยมองอนาคต จากการสำรวจสภาพที่แท้จริงทั้งภายในและภายนอก โดยเน้นความเป็นเลิศและการสร้างโอกาส การมองการณ์ไกลซึ่งเป็นการมองโลกที่เปลี่ยนแปลงให้เห็นจริงเห็นชัดได้ล่วงหน้าแล้วนำมาใช้สำหรับ การปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ให้สอดคล้องเข้ากันได้ภายใต้เงื่อนไขใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ทั้งนี้ในความหมาย เชิงปฏิบัติการจึงหมายถึง การกำหนดภาพในอนาคตขององค์กรที่ชัดเจนโดยการนำความรู้ ประสบการณ์และทักษะ ตลอดจนฐานข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบันมากำหนด ภาพของเป้าหมายในอนาคตระยะยาวขององค์กร

การสร้างวิสัยทัศน์ FORMULATING
1. เข้าใจสิ่งแวดล้อม
2. เข้าใจองค์กร
3. เข้าใจลูกค้า
4. เข้าใจคู่แข่ง

องค์ประกอบของวิสัยทัศน์
องค์ประกอบสำคัญที่จะต้องมีในข้อความที่กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ คือ ค่านิยม (Value) ภารกิจ (Mission)
และเป้าหมาย (Goal)
ค่านิยม คือ ความเชื่อขององค์กรโดยรวมที่ยึดถือและปฏิบัติต่อ ๆ กันมา
ภารกิจ คือ สถานภาพและสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันขององค์กรและสถานภาพที่จะเป็นและจะทำในอนาคต
เป้าหมาย คือ สิ่งที่องค์กรมีความยึดมั่นผูกพันและจะต้องทำให้สำเร็จ

ความสำคัญของวิสัยทัศน์
1. ช่วยกำหนดทิศทางที่จะดำเนินชีวิตหรือกิจกรรมองค์กร โดยมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน
2. ช่วยให้สมาชิกทุกคนรู้ว่า แต่ละคนมีความสำคัญต่อการมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทาง และรู้
ว่าจะทำอะไร (What) ทำไมต้องทำ (Why) ทำอย่างไร (How) และทำเมื่อใด (When)
3. ช่วยกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนมีความรู้สึกน่าสนใจ มีความผูกพัน มุ่งมั่นปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ ท้าท้าย เกิดความหมายในชีวิตการทำงาน มีการทำงานและมีชีวิตอยู่อย่างมีเป้าหมายด้วยความภูมิใจ และทุ่มเทเพื่อคุณภาพของผลงานที่ปฏิบัติ
4. ช่วยกำหนดมาตรฐานของชีวิต องค์กรและสังคมที่แสดงถึงการมีชีวิตที่มีคุณภาพ องค์กร ที่มีคุณภาพ และสังคมที่เจริญก้าวหน้ามีความเป็นเลิศในทุกด้าน

ลักษณะของวิสัยทัศน์ที่ดี
1. มีมุมมองแห่งอนาคต (Future perspective) สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และค่านิยมขององค์กรรวมทั้งวัตถุประสงค์และภารกิจขององค์กรนั้น ๆ
2. ริเริ่มโดยผู้นำและสมาชิกมีส่วนร่วมคิดและให้การสนับสนุน (Share and Supported) มีความน่าเชื่อถือ ทุกคนเต็มใจที่จะปฏิบัติตาม การมีส่วนร่วมของสมาชิกจะก่อให้เกิดความผูกพัน (Commitment) ร่วมกัน และทุกคนพร้อมที่จะให้การสนับสนุน
3. มีสาระครบถ้วนและชัดเจน (Comprehensive & Clear) สะท้อนให้เห็นถึงจุดหมายปลายทางและทิศทางที่จะก้าวไปในอนาคตที่ทุกคนเข้าใจง่าย สามารถทำให้สำเร็จได้ตรงตามเป้าหมาย สาระต่างๆ จะช่วยกระตุ้น ท้าทายความสามารถและความรู้สึกนึกคิดของบุคลากรที่จะปฏิบัติงาน
4. ให้ความฝันและพลังดลใจ (Positive & Inspiring) ท้าท้าย ทะเยอทะยาน สามารถปลุกเร้า และสร้างความคาดหวังที่เป็นสิ่งพึงปรารถนาที่มองเห็นได้ นั่นคือ มีเส้นทางที่ท้าท้ายความสามารถ
5. มีแผนปฏิบัติที่แสดงให้เห็นวิธีการที่มุ่งสู่จุดหมายชัดเจนและเมื่อปฏิบัติตามแล้วจะให้ผลคุ้มค่า ในอนาคต ทั้งในด้านบุคคลและองค์กรทั้งนี้จะต้องมีความสอดคล้องกับจุดหมายปลายทางที่กำหนดเป็นวิสัยทัศน์
6. ต้องมองหลายมิติ ทั้งด้านกว้างไกลลึกและสูง เป็นการมองภาพรวม วิเคราะห์ทั้งจุดเด่น จุดด้อย โอกาส อุปสรรคขององค์กร เป็นการมองไปข้างหน้าไม่ใช่แค่ระยะสั้นๆ มีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จหรือต้องมีความใฝ่สูงและความทะเยอทะยานจึงจะประสบความสำเร็จได้
7. ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า วิสัยทัศน์ที่ดีต้องมีการวางแผน มุ่งการสร้างไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา ต้องเป็นการปฏิบัติการเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ ฉะนั้น การวางแผนที่ดีต้องมีข้อมูล ต้องทันสมัย ทันเหตุการณ์ และทันต่อความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน
8. ต้องบรรลุเป้าหมายได้ วิสัยทัศน์ที่ดีต้องปฏิบัติได้ด้วยความสมเหตุสมผล ภายใต้ระยะ เวลาที่แน่นอน ฉะนั้น การวางวิสัยทัศน์ที่ดีคือต้องมีเป้าหมายและกำหนดเวลาที่ชัดเจนรวมทั้งบรรลุเป้าหมายได้นั่นเอง
9. ต้องเป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการ วิสัยทัศน์ที่ดีต้องท้าทายความ สามารถ ต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อจะไปสู่จุดหมาย และจุดหมายนั้นต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการร่วมกัน ต้องสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธา ต้องกระตุ้นให้ทุกคนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แรงจูงใจความเชื่อมั่นและศรัทธาจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้วิสัยทัศน์ประสบความสำเร็จ
10. ต้องคุ้มค่า เนื่องจากวิสัยทัศน์เป็นเรื่องของอนาคต ฉะนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นต้องใช้ระยะ เวลาเพื่อพิสูจน์ความคุ้มค่า และความคุ้มค่าบางอย่างไม่อาจวัดได้จากตัวเลข ตัวเงิน เช่น ความ ก้าวหน้า ความทันสมัย การพัฒนาทางความคิด การพัฒนาสุขภาพ ดังนั้น จึงต้องมีวิธีการวัดหรือประเมินผลที่ชัดเจนประกอบด้วย 11. ต้องมีกลยุทธ์ที่มุ่งสู่อนาคต วิสัยทัศน์เป็นเรื่องของอนาคต และกลยุทธ์คือวิธีการที่จะไปสู่อนาคตที่วางไว้นั่นเอง การจะปฏิบัติงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายนั้น ต้องมีวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องมีวิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นด้วย
ทุกองค์กรผู้นำต้องมีหน้าที่ในการวางวิสัยทัศน์ไว้อย่างชัดเจน ถ้าวิสัยทัศน์ขององค์กรเป็นเรื่องของเป้าหมายในอนาคตที่คนในองค์กรส่วนใหญ่ปรารถนาและอยากไปถึงจุดนั้นพร้อมกัน นั่นก็หมายความว่าวิสัยทัศน์ขององค์กรนั้น เป็นวิสัยทัศน์ที่ดี และเหมาะสมแล้วนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น